วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้าเจ้าพระยา ฝั่งตรงข้ามกับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) วัดอรุณราชวรารามเป็นวัดโบราณสันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฎปีที่สร้างแน่ชัดหรือใครเป็นผู้สร้าง หลักฐานเท่าที่ปรากฏพบว่าสร้างขึ้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. 2199-2231) ตามเเผนที่เมืองธนบุรีที่ชาวฝรั่งเศสคือ เรือเอกเดอ ฟอร์บัง (Claude de Forbin) กับนายช่างเดอ ลามาร์ (De Lamare) ได้ทำขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่แสดงเขตพุทธาวาสในอดีต ประกอบด้วย พระอุโบสถและพระวิหารหลังนี้เก่าอยู่ที่บริเวณหน้าพระปรางค์
วัดมะกอก – วัดแจ้ง – วัดอรุณราชธาราม – วัดอรุณราชวราราม
วัดอรุณราชวรารามเดิมเรียกว่า “วัดมะกอก” สันนิษฐานว่าเป็นการเรียกชื่อตามตำบลที่ตั้งวัด คือ “บางมะกอก” ตามคติเรียกชื่อวัดของไทยในสมัยโบราณ ที่จะเรียกตามชื่อตำบลที่ตั้งมักจะไม่มีชื่อวัดที่แท้จริง ในชั้นต้นคงเรียกว่า “วัดบางมะกอก” ภายหลังคงเรียกสั้น ๆ ว่า “วัดมะกอก” ต่อมามีการสร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งในตำบลเดียวกัน วัดนี้อยู่ลึกเข้าไปในคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านเรียกชื่อวัดที่สร้างใหม่ว่า “วัดมะกอกใน” (ปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศ) วัดมะกอกเดิมตรงปากคลองบางกอกใหญ่ จึงถูกเรียกว่า “วัดมะกอกนอก” เพื่อให้ทราบว่าเป็นคนละวัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดแจ้ง” ในสมัยกรุงธนบุรี ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระราชทานชื่อวัดใหม่ว่า “วัดอรุณราชธาราม” กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดอรุณราชวราราม” ดังที่ใช้เรียกในปัจจุบัน
สมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงศรีอยุธยามากรุงธนบุรี ได้ทรงสร้างพระราชวังแห่งใหม่ โปรดให้กั้นเขตพระราชวังไปถึงคลองนครบาลหรือคลองวัดเเจ้งทำให้วัดแจ้งกลายเป็นวัดในเขตพระราชวัง ตามเเบบอย่างพระราชวังในสมัยกรุงศรีอยุธยา และยกเว้นไม่ให้พระสงฆ์อยู่อาศัยในช่วงเวลาดังกล่าว วัดอรุณราชวรารามยังเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต อยู่เป็นระยะเวลา 5 ปี แล้วจึงถูกอัญเชิญไปประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดารามแทนในปี พ.ศ.2327 (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2556)
สมัยรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)
เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ย้ายเมืองหลวง ไปยังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา หรือฝั่งกรุงเทพฯ โปรดให้สร้างพระบรมมหาราชวัง โดยรื้อเอาอิฐกำแพงเมืองธนบุรีมาใช้ก่อสร้าง และโปรดให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามขึ้นในพระบรมมหาราชวังด้วย หลังจากที่รื้อกำแพงพระราชวังตั้งแต่คลองนครบาลหรือคลองวัดแจ้งลงมาถึงกำแพงพระราชวังเดิมออกไปวัดแจ้งนั้นก็กลายเป็นวัดที่อยู่นอกพระราชวัง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงโปรดให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาได้ การทะนุบำรุงวัดแจ้งในรัชสมัยนี้เป็นการวางรากฐานการซ่อมบำรุงพระอุโบสถและพระวิหาร โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เป็นผู้ดำเนินการรับหน้าที่ดูแลวัด และโปรดให้ประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมเพื่อควบคุมดูแลการก่อสร้างวัดแจ้งต่อไป
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยขึ้นครองราชย์ ได้ทรงบูรณะโบสถ์น้อยและวิหารน้อยสร้างพระอุโบสถ พระวิหาร และหมู่กุฏิสงฆ์ต่อ หลังจากที่ทรงเริ่มสร้างไว้จากรัชกาลก่อน ในรัชกาลของพระองค์โปรดให้สร้างพระระเบียงล้อมรอบพระอุโบสถเพิ่มเติม ทรงปั้นหุ่นต้นแบบพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถด้วยฝีพระหัตถ์ สร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ และสร้างเมรุปูนขนาดใหญ่หลังวัดทางทิศตะวันตก โดยโปรดให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เป็นแม่กองกำกับการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารส่วนใหญ่ภายในวัด นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริเสริมพระปรางค์องค์เดิมของวัดให้ใหญ่ขึ้นเพื่อให้เป็นพระมหาธาตุสำหรับพระนคร โดยให้กำหนดที่ขุดทำฐานราก แต่ได้ค้างอยู่เพียงนั้นจนสิ้นรัชกาล (ประพัฒน์ ตรีณรงค์, 2562)
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้สร้างและปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งวัดเป็นการใหญ่ สร้างประตูเข้าสู่พระอุโบสถใหม่เป็นซุ้มมงกุฎ รูปยักษ์คู่หน้าซุ้มประตู มณฑปพระพุทธบาทจำลอง พระเจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ 4 องค์ และนำภูเขาจำลองในพระบรมมหาราชวังซึ่งสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 มาไว้หน้าวัดทางด้านเหนือหลังศาลาท่าน้ำ 3 หลัง ส่วนงานเสริมพระปรางค์ต่อจากรัชกาลก่อนได้ทรงคิดแบบและสร้างจนสำเร็จ โดยโปรดให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่องพระประธานในวัดนางนอง มาติดบนยอดนภศูลของปรางค์ประธาน
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) – ปัจจุบัน
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้อัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มาบรรจุไว้ที่พระพุทธอาสน์พระประธานในพระอุโบสถ แล้วพระราชทานนามพระพุทธรูปถวายว่า “พระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก” ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้มีการปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ โดยให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าฯกรมพระจักรพรรดิพงษ์ มาประทับอยู่ที่พระราขวังเดิมรับหน้าที่ดูแลวัดอรุณราชวรารามในรัชกาลต่อๆ มาโปรดให้มีการบูรณะซ่อมแซมวัตถุสถานต่างๆ ภายในวัดอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา โดยอาคารภายในวัดที่สร้างขึ้นใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาส่วนใหญ่เป็นอาคารบริวาร หรือส่วนบริการของวัด ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัดเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรงเรียนทวีธาภิเศก ในสมัยรัชกาลที่ 5 โรงเรียนพระปริยัติธรรม “เผือก วิทยาประสาธน์” และศาลาท่าน้ำ “อนุสรณ์ท่าเรือคุณแม่เผือก” ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9
วัดอรุณราชวรารามยังเป็นวัดที่ใช้ในการประกอบพระราชพิธีสำคัญ เช่น พิธีแรกนาขวัญในสมัยรัชกาลที่ 2 การพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน เป็นหนึ่งในเส้นทางของกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคตลอดมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้วัดอรุณราชวรารามได้รับการบำรุงรักษาบูรณะปฏิสังขรณ์เรื่อยมาทุกรัชกาล โดยการบูรณะวัดครั้งใหญ่เกิดขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 1–3 ซึ่งส่งผลต่อการจัดสรรพื้นที่ใช้สอยของวัด รูปแบบสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสำคัญของวัดที่ปรากฏในปัจจุบัน