Skip to content

พระปรางค์วัดอรุณฯ

สาย - ประวัติศาสตร์ - พระปรางค์

พระปรางค์วัดอรุณฯ

พระปรางค์ตั้งอยู่ด้านหลังของโบสถ์น้อยและวิหารน้อย ตำแหน่งดังกล่าวเดิมเป็นที่ตั้งของพระปรางค์ขนาดความสูง 8 วาหรือประมาณ 16 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาทำหน้าที่เป็นปรางค์ประธานของวัด โดยพระปรางค์องค์ปัจจุบันเป็นการต่อเติมพระปรางค์องค์เดิมให้มีขนาดใหญ่และเป็น “มหาธาตุ” สำหรับกรุงเทพมหานคร เริ่มสร้างในช่วงปลายรัชกาลที่ 2 แล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 3 รูปแบบสถาปัตยกรรมมีพระปรางค์ประธานขนาดใหญ่ซ้อนฐานสูงส่วนฐานประดับประติมากรรมยักษ์แบก กระบี่แบก (ลิงแบก) และเทวดาแบก ไล่ชั้นกันขึ้นไปสื่อถึงลำดับชั้นของสวรรค์รอบเขาพระสุเมรุ ปรางค์ประธานมีลักษณะเป็นปรางค์ 5 ยอดตั้งอยู่ตรงกลางฐานสูงซุ้มทั้ง 4 ทิศประดับประติมากรรมรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณอันสื่อถึงคติการสร้างกรุงเทพมหานคร มีปรางค์บริวารขนาดเล็กกว่าที่มุมทั้งสี่ มีอาคารเครื่องยอดทรงมณฑปที่ด้านทั้งสี่อาคารทั้งหมดตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ร่วมกันเรียกว่า “ฐานไพที” มีพื้นลานหินล้อมรอบฐานไพทีและกำหนดขอบเขตของพระปรางค์ด้วยแนวรั้วเหล็ก และซุ้มประตูทางเข้าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

ภาพ : ส่วนฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม (ที่มา : www.aey.me)

 

พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามมีความสำคัญในเชิงพัฒนาการทางรูปแบบสถาปัตยกรรมปรางค์ในสมัยรัตนโกสินทร์เป็นพระปรางค์รูปแบบที่เรียกว่า “ปรางค์ทรงจอมแห” คือพระปรางค์ที่นำคุณลักษณ์ของรูปทรงจอมแหในการออกแบบพระเจดีย์ย่อมุมมาใช้ในการออกแบบพระปรางค์ (ศานติ ภักดีคำ, 2555) นอกจากนี้องค์พระปรางค์ยังมีความโดดเด่นในเรื่องกรรมวิธีการประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องเคลือบสีตลอดทั้งองค์ มีรูปแบบที่หลากหลายทั้งเครื่องถ้วยแบบจีน กระเบื้องเคลือบที่ทำเป็นลวดลายเฉพาะ และชิ้นกระเบื้องที่ถูกตัดแต่งประกอบกันเป็นลวดลาย อันเป็นกรรมวิธีการประดับตกแต่งอิทธิพลจีนที่นิยมใช้ในงานสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยแบบ “พระราชนิยม” ในสมัยรัชกาลที่ 3 อยากให้ทุกท่านลองเข้าไปสังเกตรายละอียดการประดับกระเบื้องบนตัวพระปรางค์ใกล้ๆ จะเจอถ้วยชามกระเบื้องเคลือบหลากหลายรูปแบบและสีสันประกอบกันจนเกิดความงดงามเป็นเอกลักษณ์

ภาพ : ลายประดับกระเบื้องเคลือบ พระปรางค์วัดอรุณฯ (ที่มา : www.aey.me)

 

เกร็ดน่ารู้ : บนยอดสุดของพระปรางค์วัดอรุณประดับด้วยมงกุฎของพระพุทธมหาจักรพรรดิ พระปรานในพระอุโบสถ วัดนางนอง คือ พระพุทธรูปสำริดปิดทอง เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยพระนาม “พระพุทธมหาจักรพรรดิ” พระพักตร์พุทธศิลป์อย่างสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง 2 เมตร 25 เซนติเมตร เครื่องทรงที่ประดับทุกชิ้นแยกออกจากองค์พระ สวมทับลงไว้ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีปั้นลายปิดทองประดับกระจก พุทธประติมาชิ้นสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เครื่องทรงขององค์พระที่มีความงามวิจิตรอลังการจนรัชกาลที่ 3 ขอนำมงกุฎของพระพุทธมหาจักรพรรดิไปประดิษฐานยังยอดของตรีศูลพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามภายหลังจึงมีการสร้างถวายคืนให้ในรัชกาลของพระองค์

ภาพ : ยอดมงกุฎพระปรางค์วัดอรุณ และพระพุทธมหาจักรพรรดิ (ที่มา : วัดอรุณราชวราราม, www.aey.me)