Skip to content

พระปรางค์วัดอรุณใน “King The Land” กับบทบาทของปรางค์วัดอรุณฯ ในสื่อภาพยนตร์

ซีรี่เกาหลี “King The Land”

ซีรี่เกาหลีชื่อดังที่เปิดมิติการท่องเที่ยววัดอรุณฯ อีกครั้ง โด่งดังมากในช่วงปี พ.ศ. 2566 ที่เพิ่งผ่านมา ผลงานของผู้กำกับ  อิมฮยอนอุค เป็นภาพยนตร์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ เกี่ยวกับความรักของ กูวอน ทายาทตระกูลแชบอล เจ้าของและผู้บริหารคิงกรุ๊ป (King Group) ที่ไม่สามารถทนกับรอยยิ้มอันจอมปลอม เขาได้พบกับ ชอนซารัง พนักงานประจำหน้าล็อบบี้ โรงแรมคิง ผู้ซึ่งมาพร้อมกับรอยยิ้มอันสดใสเสมอแม้ในเวลาที่เธอไม่ต้องการ เนื่องจากลักษณะงานของเธอที่ต้องยิ้มแย้มสดใสอยู่เสมอ ทั้งคู่ต่างตามหาวันที่มีความสุขที่ทำให้พวกเขาสามารถยิ้มออกมาจากใจได้อย่างแท้จริง ฉากเด่นของเรื่องเกิดขึ้นที่วัดอรุณราชวราราม เป็นฉากที่พระเอก นางเอก และเพื่อน เดินทางมาท่องเที่ยวและชมความงดงามของสถาปัตยกรรม ในเรื่องเราจะเห็นภาพพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยและเป็น Iconic สถานที่ท่องเที่ยวของประเทศไทยที่โดดเด่นเป็นสง่า

ภาพ : ฉากวัดอรุณราชวรารามในซีรีส์ “King The Land” (ที่มา : https://www.blockdit.com/posts/64b531272af9311dc190c588)

 

ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับพระปรางค์วัดอรุณฯ
ภาพ : ภาพยนตร์บันทึกการบูรณะโบราณสถาน (ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
ภาพยนตร์บันทึกการบูรณะโบราณสถาน

ภาพยนตร์การบูรณะพระปรางค์ วัดอรุณราชวรารามเรื่องนี้ จัดทำโดยกรมศิลปากร เป็นภาพยนตร์ 16 มม. ขาวดำ เงียบ ความยาว 14 นาที บันทึกช่วงหนึ่งของการบูรณะวัดอรุณราชวรารามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ระหว่างปี 2511-2515 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของพระปรางค์ หนังสือประวัติวัดอรุณราชวราราม (2521) ระบุว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2509 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) ได้มีจดหมายถึง จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ขอให้ทางราชการอุปถัมภ์ช่วยเหลือการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม ซึ่งเป็นโบราณสถานเก่าแก่อันหาค่ามิได้ของชาติ ที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก กรมศิลปากรจึงได้จัดทำโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ โดยงบประมาณราว 15 ล้านบาท และแบ่งงานออกเป็น 4 งวด ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ปี จากนั้นจึงเสนอคณะรัฐมนตรีขอแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนการบูรณะ และได้ประกอบพิธีบวงสรวงก่อนเริ่มการบูรณะพระปรางค์ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2510

ภาพ : ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์บันทึกการบูรณะโบราณสถาน (ที่มา : หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

 

ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์เริ่มต้นจากภาพมุมสูงจากนั่งร้านรอบพระปรางค์มองข้ามแม่น้ำไปเห็นตลาดท่าเตียนและวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) จากนั้นจึงเป็นภาพของฝั่งแม่น้ำเดียวกัน ประกอบด้วย อาคารเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก ซุ้มประตูยอดทรงมงกุฎทางเข้าไปสู่พระอุโบสถ ยักษ์ 2 ตนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เขามอ (ภูเขาและสวนจำลองตามความเชื่อของพราหมณ์ฮินดู) จากนั้นจึงเป็น 01) ภาพกว้างของพระปรางค์ที่ถูกล้อมนั่งร้านขึ้นไปจนเกือบถึงยอดของปรางค์ประธาน ภาพฐานพระปรางค์ย่อมุมประดับยักษ์แบก (ใส่เกราะ) ของปรางค์หลัก ภาพมุมใกล้ของเทวดาแบก (ไม่ใส่เกราะ) ของปรางค์บริวาร ต่อมาเป็นภาพของช่างที่กำลังเตรียมการฉีดปูนเกราท์ (ปูนสำเร็จรูปผสมพิเศษซึ่งสามารถแทรกตัวเข้าไปในรอยแยกได้ดีและให้กำลังอัดสูง) เข้าไปในช่องที่เจาะไว้เพื่อเสริมความแข็งแรงของฐาน 04) ภาพของช่างกำลังวาดแบบลงบนชามกระเบื้อง จากนั้นจึงตัดด้วยเครื่องเจียรที่ประยุกต์การใช้งานโดยยึดไว้กับฐาน ก่อน 02) นำชิ้นกระเบื้องที่ตัดได้ไปติดแทนชิ้นเดิมที่ชฎาของพระนารายณ์ทรงสุบรรณที่ประดับอยู่บริเวณชั้นรัดประคดของพระปรางค์ ต่อมาเป็นภาพของ 05) ช่างขัดทำความสะอาดองค์พระปรางค์ ส่วนต่าง ๆ ขององค์พระปรางค์ซึ่งหักพังสูญหาย รวมถึงหางหงส์ และงวงของช้างจากรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ช่างใช้วิธีปั้นทดแทนและติดกระเบื้องประดับให้ใกล้เคียงของเดิม ช่วงท้ายของภาพยนตร์ได้ถ่ายทำให้เห็นการขึ้นลงจากพื้นดินสู่โครงไม้นั่งร้านรอบพระปรางค์ที่สูงหลายสิบเมตรโดยใช้รอกดึงขึ้นไปทั้งคนและวัสดุอุปกรณ์ในการทำงาน