คติสัญลักษณ์ในการออกแบบพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
ปรางค์ประธานสื่อถึงเขาพระสุเมรุ ส่วนเรือนธาตุประดับประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสื่อถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ยอดพระปรางค์จำนวน 5 ยอดแทน “วิมานไพชยนต์” ที่ประทับของพระอินทร์ ปลายยอดสุดของนภศูลประดับมงกุฎทองอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม นักวิชาการวิเคราะห์ความหมายไว้ 2 แนวทาง ได้แก่ คติสมมติเทพหรือเทวราชาของพระมหากษัตริย์ กับการแสดงคติสถานะพระโพธิ์สัตว์หรือธรรมราชาของพระมหากษัตริย์ ส่วนฐานพระปรางค์ซ้อนชั้นประดับรูปเทวดาแบก กระบี่แบก และยักษ์แบกตามลำดับสื่อแทนอสูรและเทพรักษาเชิงเขา ปรางค์ทิศสื่อถึงทวีปทั้งสี่ หรือเขาสัตตบริภัณฑ์ มณฑปทิศ สื่อถึงวิมานท้าวจตุโลกบาล ก่อนที่จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูป 4 ปาง ได้แก่ ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน จากวิหารคดรอบพระปรางค์ในคราวบูรณะวัดอรุณราชวรารามในสมัยรัชกาลที่ 5 (กองโบราณคดี กรมศิลปากร, 2562) ลานรอบพระปรางค์สัญลักษณ์ของมหาสมุทร แท่นศิลาสี่มุมสื่อถึงทวีปทั้งสี่จากหลักฐานที่ว่าเคยมีการประดับกระถางต้นไม้ซึ่งเทียบเคียงกับคำอธิบายต้นไม้ประจำทวีปทัั้งสี่ และวิหารคด (ศาลาเก้าห้อง) อันเคยเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงคตล้อมรอบพระปรางค์ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนเป็นรั้วเหล็กในสมัยรัชกาลที่ 5 หมายถึงกำแพงขอบจักรวาล